วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557

วันเสาร์ห้า(5) วันแรงของปี 57


วันเสาร์ ๕ ปีนี้ คือ วันเสาร์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๗

     เชื่อว่าหลายๆท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า "เสาร์ ๕ " กันมาบ้าง วันเสาร์ ๕ ถือเป็นวันแรง วันขลัง วันที่ว่ากันว่ามีทั้งดีและร้ายอยู่ในตัว ซึ่งก็แล้วแต่จะอยู่ในกรณีใด ส่วนใหญ่แล้วในวันนี้จะใช้ในการประกอบพิธีกรรมหลายๆอย่าง จะทำให้พิธีเหล่านั้นเข้มขลัง มากกว่าวันทั่วไป เช่น สร้างพระ ปลุกเสกพระ ฯลฯ

     วันเสาร์ ๕ มี 3 ลักษณะ คือ วันเสาร์ ๕ เพศผู้ ,วันเสาร์ ๕ เพศเมีย และวันเสาร์ ๕ ใหญ่ ซึ่งวันเสาร์ ๕ เพศผู้นั้น จะหายากกว่า แรงกว่า ขลังกว่า เสาร์ ๕ เพศเมีย โดยเสาร์ ๕ เพศผู้ คือ วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีใดๆก็ได้  สำหรับ วันเสาร์ ๕ เพศเมียนั้น ซึ่งก็ตรงกับวันนี้นั่นเอง คือ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๗ คือ วันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ ในปีใดๆก็ได้

     แต่สำหรับวันเสาร์ ๕ ที่ถือว่าแรงที่สุด คือ วันเสาร์๕ ใหญ่ คือ วันเสาร์ที่ตรงกับ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล เป็นสุดยอดของวันเสาร์ ๕ เลยทีเดียว เกิดขึ้นยากมากๆๆ ชั่วชีวิตคนๆหนึ่ง จะได้พบเจอหรือเปล่าก็ยังไม่รู้

     ในทางโหราศาสตร์แล้ว ถือว่าวันนี้ วันเสาร์ ๕ เป็นวันดี ฤกษ์ดี วันแข็ง วันขลัง แต่ถ้าหากมองในทางพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าสอนว่าฤกษ์ดี คือ ช่วงเวลาที่เราทำความดี เมื่อใด เวลาใด วันใดที่เรากระทำความดี นั่นคือ ฤกษ์ดี 

     พุทธศาสนิกชน ควรตระหนักว่า วันนี้ฤกษ์ดี ฤกษ์แรง ให้ทำความดีแรงๆ สิ่งดีๆย่อมเกิดขึ้นอย่างแรงแน่นอน..

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

ประวัติตุ๊ปู่จี๋ : พระมหาโพธิวงศาจารย์ (หลวงปู่สุจี กตสารมหาเถร) ตอนที่ 4

หุ่นขี้ผึ้งจำลองในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่

เกียรติคุณที่หลวงปู่สมควรได้รับการยกย่อง

     หลวงปู่(พระเดชพระคุณรพระมหาโพธิวงศาจารย์) นับเป็นปูชนียบุคคลที่ประเสริฐยิ่ง ที่พุทธศาสนิกชน ทั้งในจังหวัดแพร่ และต่างจังหวัดจะต้องจารึกไว้ไม่รู้ลืม พระเดชพระคุณท่าน ได้สร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลแก่สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา

     หลวงปู่มีอัธยาศัยไมตรีดีกับทุกคน เป็นพระมหาเถระที่มีบารมีธรรมที่แผ่ไพศาล ศิษยานุศิษย์ทุกคนต่างซาบซึ้งในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระเดชพระคุณท่านหลายๆอย่าง และท่านได้ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีมาโดยตลอด อีกทั้งยังเปี่ยมล้นไปด้วยความเสียสละ มีความรับผิดชอบ เคารพ ระเบียบวินัย มุ่งมั่นในการทำงาน มีความจริงใจต่อผู้ร่วมงานทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์  เป็นผู้มีน้ำใจกว้างขวาง มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระเดชพระคุณท่านได้ประพฤติปฏิบัติมาโดยตลอด

     ศิษยานุศิษย์ที่ใกล้ชิดและอยู่ใต้บารมีธรรมของพระเดชพระคุณท่านย่อมรู้สึกซาบซึ้งเป็นที่สุด นับว่าเป็นปูชนียบุคคลที่หายากยิ่ง ไม่สามารถที่จะพรรณนาจริยาวัตรอันงดงามของพระเดชพระคุณท่านให้หมดสิ้นได้ เพราะฉะนั้น ศิษยานุศิษย์จงมีความภูมิใจเถิดที่ได้เกิดมามีบุญได้สนองงานของพระเดชพระคุณท่าน  ในการสร้างสรรค์สังคม จรรโลงพระพุทธศาสนาให้สถิติสถาพรสืบต่อไป

รางวัลและเกียรติคุณที่หลวงปู่ได้รับการยกย่อง

  • พ.ศ. 2526  ได้รับวัดพัฒนาดีเด่น จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2527  ได้รับเสาเสมาธรรมจักร ผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม สาขาการบริหารการศึกษา
  • พ.ศ. 2539  ได้รับเกียรติบัตร จากกรมราชทัณฑ์ ผู้บำเพ็ญประโยชน์ด้านการพัฒนาจิตใจ แก่ผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง
  • พ.ศ. 2540  ได้รับเกียรติบัตร  จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ เป็นผู้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมของจังหวัดแพร่ 
     และสำหรับการก่อสร้างพระเจดีย์พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ หลวงปู่ก็เป็นผู้เริ่มวางศิลาฤกษ์ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ณ วัดพนมขวัญ จังหวัดแพร่

ที่มา : เนื้อหาประวัติหลวงปู่สุจี กตสารมหาเถร  หรือพระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ ได้มาจากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุปราสาทนกหัสดีลิงค์ มณฑลพิธีสนามหลวงจังหวัดแพร่ ๑๙-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖  โดย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ
โดยในเล่มจะมีเนื้อหาของ "ปัญญาต้องคู่กับกรุณาจึงจะพาชาติรอด"  พระพรหมบัณฑิต(ประยูร ธมมจิตโต ป.ธ.๙, Ph.D.) ศาสตราจารย์ , ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

ประวัติตุ๊ปู่จี๋ : พระมหาโพธิวงศาจารย์ (หลวงปู่สุจี กตสารมหาเถร) ตอนที่ 3

หลวงปู่วางศิลาฤกษ์ สร้างพระเจดีย์พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒
สมณศักดิ์ของหลวงปู่

  • พ.ศ. 2484 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระใบฎีกา ฐานานุกรม ของพระปริยัติวงศาจารย์ (ฟู อัตตสิวมหาเถร)เจ้าคณะจังหวัดแพร่ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
  • พ.ศ. 2493 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูปลัด ฐานานุกรม ของพระเทพมุนี (ฟู อัตตสิวมหาเถร) เจ้าคณะจังหวัดแพร่ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
  • พ.ศ. 2495 เป็นพระครูรองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ที่ "พระครูธรรมสารสุจิต"
  • พ.ศ. 2500 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระภัทรสารมุนี" มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 3 ตำแหน่ง คือ 
  1. พระปลัด
  2. พระสมุห์
  3. พระใบฎีกา
  • พ.ศ. 2515 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชรัตนมุนี ศรีโกไสยคุณาทร มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี" มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 ตำแหน่ง คือ
  1. พระครูปลัด
  2. พระครูสังฆรักษ์
  3. พระครูสมุห์
  4. พระครูใบฎีกา
  • พ.ศ. 2526 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ "พระเทพวิริยาภรณ์ สุนทรกิจโกศล วิมลธรรมานุสิฐมหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี" มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 ตำแหน่ง คือ
  1. พระครูปลัด
  2. พระครูวินัยธร
  3. พระครูสังฆรักษ์
  4. พระครูสมุห์
  5. พระครูใบฎีกา 
  • พ.ศ. 2535 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ "พระธรรมรัตนากร สุนทรพรหมปฏิบัติ สมณวัตรโกศล วิมลปิฎกธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี"  มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 6 ตำแหน่ง คือ
  1. พระครูปลัดรัตนวัฒน์
  2. พระครูวินัยธร
  3. พระครูธรรมธร
  4. พระครูสังฆรักษ์
  5. พระครูสมุห์
  6. พระครูใบฎีกา
  •  พ.ศ. 2540 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ "พระมหาโพธิวงศาจารย์ ญาณจริยสมบัติ พุทธบริษัทปสาทนียคุณ วิบูลพัฒนวโรปการ ศาสนภารธุรทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี" มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 ตำแหน่ง คือ
  1. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ พิบูลศาสนธุราทร บวรธรรมรักขิต
  2. พระครูวินัยธร
  3. พระครูธรรมธร
  4. พระครูวิจิตสรคุณ (พระครูคู่สวด)
  5. พระครูวิบูลสรภัญ (พระครูคู่สวด)
  6. พระครูสังฆบริหาร
  7. พระครูสมุห์
  8. พระครูใบฎีกา

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

ประวัติตุ๊ปู่จี๋ : พระมหาโพธิวงศาจารย์ (หลวงปู่สุจี กตสารมหาเถร) ตอนที่ 2


งานปกครอง


พ.ศ. 2501 เป็นพระอุปัชฌาย์ จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2502 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง
พ.ศ. 2509 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดแพร่
พ.ศ. 2510 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดแพร่
พ.ศ. 2518 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง
พ.ศ. 2522 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค6
พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นกรรมการฝ่ายปกครองของมหาเถรสมาคม
พ.ศ. 2541 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค6

ในงานปกครองในวัด  หลวงปู่ได้จัดกิจกรรมภายในวัด รวมถึงกติกาในวัดดังนี้

1.มีการทำอุโบสถกรรม (สวดปาฏิโมกข์) ตลอดปี และมีพระภิกษุที่สวดปาฏิโมกข์ได้ 1 รูป 2.มีการทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น เป็นประจำตลอดปี
3.มีระเบียบการปกครองของวัด เป็นไปตามกฏระเบียบของมหาเถรสมาคม พระธรรมวินัย และอาณัติสงฆ์ในเขตภาคเหนือจนถึงปัจจุบัน
4.มีกติกาของวัด โดยใช้กติกาของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อัตตสิวมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร

งานการศึกษา

พ.ศ. 2484 เป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร พ.ศ. 2486 เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นตรีสนามหลวง
พ.ศ. 2495 เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโทสนามหลวง
พ.ศ. 2500 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีมัธยมธรรมราชวิทยา
พ.ศ. 2506 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
พ.ศ. 2513 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่พุทธโกศัยวิทยา (ปัจจุบันโรงเรียนพุทธโกศัยวิทยา)
พ.ศ. 2514 เป็นกรรมการนำประโยคข้อสอบธรรมไปเปิดสอบ ณ ประเทศมาเลเซีย
พ.ศ. 2530 เป็นรองอธิการบดีมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตแพร่
พ.ศ. 2541 เป็นประธานสภาวิทยาเขต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่

หลวงปู่ได้ส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุและสามเณร ดังนี้

       ได้ส่งเสริมพระภิกษุและสามเณรที่เรียนดีไปเรียนต่อในชั้นสูงต่อไป เช่น ส่งไปเรียน ณ สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรฯ สำนักเรียนวัดชนะสงคราม และสำนักเรียนวัดปากน้ำ ทั้งนี้ก็เพราะทางสำนักเรียนวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ไม่ได้เปิดให้เรียนบาลีชั้นสูง (ตั้งแต่ ป.ธ. 5-9)และยังได้อุปถัมภ์ด้านจตุปัจจัยเป็นพิเศษให้กับภิกษุสามเณรที่ไปเรียน ต่อต่างประเทศอีกด้วย

งานเผยแผ่พุทธศาสนา

พ.ศ. 2486 เป็นกรรมการส่งเสริมศีลธรรมแพร่
พ.ศ. 2490 เป็นผู้แทนนำพระไตรปิฏกไปประดิษฐานที่อำเภอวังชิ้น
พ.ศ. 2497 เป็นอนุกรรมการ ก.ป.ช. จังหวัดแพร่
พ.ศ. 2508 เป็นประธานนำครู-อาจารย์โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ออกอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนตามอำเภอต่างๆ ในเทศกาลเข้าพรรษาจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2514 เป็นผู้ร่วมคณะเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปเผยแพร่ ณ ประเทศอินโดนีเซีย
พ.ศ. 2535 ได้ร่วมกับคณะเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปเผยแพร่ ณ ประเทศจีน
พ.ศ. 2539 ถึงปัจจุบัน(หลวงปู่ มรณภาพ 2 พฤศจิกายน 2554)
  • ได้แสดงพระธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดแพร่ ชื่อรายการ
  • ได้เชิญชวนพระภิกษุสามเณรและคณะศรัธาญาติโยมผู้ใจบุญได้กระทำพิธีกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา    ตลอดจนวันสำคัญที่เกี่ยวกับบ้านเมืองด้วย
  • ได้ให้การอบรมศีลธรรมแก่นักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์, โรงเรียนพุทธโกศัยวิทยาและพระนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ในบางโอกาส
  • ได้ให้การอบรมศีลธรรมแก่ผู้ใจบุญในวันธัมมัสวนะที่วัดทุกวัน
  • ได้ให้การอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนตามโครงการต่างๆ ของคณะสงฆ์ และหน่วยงานราชการ
  • ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการใช้สถานที่วัดจัดประชุมสัมมนาสอบบรรจุและบำเพ็ญสาธารณกุศลอื่นๆ ธรรมะสู่ประชาชน เป็นประจำทุกวัน เวลา 05.15 น.